สรุป มาตรการแจกเงิน ‘เราชนะ’ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เบิกเป็นเงินสดไม่ได้ แล้วจะรับเงินจะได้อย่างไร ช่องทางไหน ตามมาดูกันเลย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตราการเยียวยาในโครงการ เราชนะ เพื่อเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ด้วยการโอนเงินช่วยเหลือประชาชนคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็นเงิน 7,000 บาท

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้เงินแบบนี้ และแต่ละคนได้เงินแตกต่างกัน คนละวัน และไม่ได้เป็นเงินสดแบบคราวก่อน

โดยเริ่มสนับสนุนวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (บางกลุ่ม) ซึ่งการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ จะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งแต่ละอาชีพก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันอีก

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ

6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

อันดับแรก คือ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้

ใช้เงินได้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยจะจ่ายหลายแบบ รายสัปดาห์ ให้ทยอยใช้ไป ลองมาดูกันว่าเราอยู่ในกลุ่มไหน

กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการฯ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็นดังนี้

1. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท

2. กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

หากผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (G-Wallet) แอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ รวมจำนวน 7,000 บาท โดยจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกวันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป

กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ใน กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง

ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ. 2564 เวลา 06.00-23.00 น. หลังจากผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (G-Wallet) แอปพลิเคชันเป๋าตังก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือจำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ รวมจำนวน 7,000 บาท โดยจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกวันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป

วิธีตรวจสอบสิทธิเราชนะ (เปิดให้บริการ 29 มกราคม 64)

  1. เข้าเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เลือกตรวจสอบสถานะการได้รับสิทธิเราชนะ
  2. ใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก
  3. กดตรวจสอบ ระบบจะแสดงข้อมูลว่าผ่านคุณสมบัติหรือไม่หากตรวจสอบสิทธิว่าผ่านคุณสมบัติในโครงการเราชนะแล้ว จากนั้นในวันที่ 18 ก.พ. 64 จะมีข้อความแจ้งเตือนในแอปฯ เป๋าตัง เพื่อให้กดปุ่มยืนยันเข้าร่วมโครงการเราชนะ โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับการโอนเงินเข้าแอปฯ เป๋าตังสัปดาห์ละ 1,000 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์ เพื่อใช้จ่ายกับร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ

ที่มา ไทยรัฐ (23 มกราคม 64) กรุงเทพธุรกิจ (20 มกราคม 64) Sanook (23 มกราคม 64)

Comments

comments