จากข่าวที่ว่า Huawei ถูก ARM แบน กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที ครั้งนี้ไม่เหมือนกับการที่ Google แบน Android ที่ยัง (พอ) มีทางออกในการมองหา OS อื่นมาทดแทนได้
เหตุการณ์นี้มีผลทำให้ Huawei ไม่ได้รับอนุญาตในการใช้สิทธิบัตรของ ARM ในการผลิตชิปเซ็ตใหม่ในอนาคต และลามไปถึงใช้ซีพียู Kirin รุ่นใหม่บนมือถือ Huawei, Honor ไม่ได้อีกต่อไป (เนื่องจากไม่มีสิทธิบัตร) ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับ Huawei เป็นอย่างมาก วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ ARM ว่ามันคืออะไร แล้วสำคัญยังไงถึงขนาดมือถือทุกแบรนด์ต้องพึ่งพา ฉบับเข้าใจง่าย ไร้ภาษาเทคนิค
Update : 27/5/62 คำแถลงการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจของหัวเว่ยกับ ARM
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่อง ARM ขอย้ำตรงนี้ว่า มือถือ Huawei รุ่นที่วางขายแล้ว สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทั้ง Android, บริการ Google และบริการแอปต่างๆ รวมไปถึงการบริการหลังการขาย อ่าน มือถือ Huawei ยังใช้บริการ Google ต่อได้ไหม
มาถึงเรื่อง ARM กันบ้าง ปัจจุบันสมาร์ทโฟนจะใช้ซีพียูจากค่ายต่างๆ ที่ใช้สถาปัตยกรรม ชุดคำสั่งของ ARM จากตารางนี้ (อ้างอิง)
หากเทียบสมาร์ทโฟน กับคอมพิวเตอร์ จะคล้ายกันตรงที่มี หน่วยประมวลผล หรือมันสมองในการคำนวณ และมีชิปเซ็ต มีชิปประมวลผลกราฟิก บนคอมพิวเตอร์มีซีพียู Intel, AMD บนสมาร์ทโฟนมี Qualcomm (Snapdragon), Exynos, HiSilicon (Kirin), MediaTek, Intel Atom ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันตอนเปิดอ่านสเปคมือถือ
ARM นั้นไม่ได้ผลิต CPU และชิปเซ็ตเอง แต่ขายใบอนุญาตสิทธิบัตรให้กับบริษัทอื่นๆ นำไปผลิต ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิบัตร ซึ่งไม่ว่าจะเป็น CPU ของ Qualcomm, Samsung, Huawei ต่างก็พัฒนาภายใต้สิทธิบัตรของ ARM ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ Apple A12 Bionic ก็อยู่ภายใต้สิทธิบัตร 64-bit ARM-based ด้วยเช่นกัน
ถ้าไล่เรียงทบทวน CPU บนมือถือที่เราคุ้นตา อย่าง Samsung ก็จะมี Snapdragon กับ Exynos ส่วน Huawei และ Honor ใช้ Kirin ในขณะที่ OPPO ใช้ Mediatek, OnePlus ใช้ Snapdragon ซึ่งมือถือทุกแบรนด์ล้วนแต่ใช้ CPU ที่พัฒนาภายใต้สิทธิบัตรของ ARM ด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นซีพียู Intel ที่ไม่ได้ใช้สถาปัตยกรรม ARM
แต่ทั้งนี้ ชิป Intel Atom บนมือถือ สามารถรันแอปของ Android ที่เขียนเพื่อรันบนซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรมของ ARM ได้ แต่หากแอปถูกเขียนอ้างอิงโค้ดของ ARM โดยเฉพาะ ก็จะต้องมีการแปลงโค้ดก่อน ซึ่งก็เคยมีข่าวว่า บางแอปไม่รองรับ CPU Intel ดังเช่นที่เราเคยเล่น Pokemon บนมือถือที่ใช้ CPU Intel ไม่ได้เมื่อหลายปีก่อน เช่น ASUS Zenfone 2 ซึ่งหาก Huawei ใช้ชิปเซ็ตอื่น ที่แอปไม่ได้เขียนไว้รองรับ ก็อาจจะเจอปัญหาคล้ายๆ กันนี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป หาก ARM ไม่อนุญาตให้ Huawei ใช้ใบอนุญาตเพื่อผลิตชิปเซ็ตที่อยู่ภายใต้ ARM ซึ่งหมายความว่า Huawei จะไม่สามารถใช้ชิปเซ็ต Kirin ได้อีกในรุ่นถัดไป แต่รุ่นที่วางขายปัจจุบันใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งบทสรุปเรารู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าไม่มีสิทธิบัตร ไม่ได้รับอนุญาต ก็จะไม่สามารถใช้งานได้
แล้วอย่างงี้ Huawei จะเอายังไงต่อ?
ถึงจะมีการแบนเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีผลกับรุ่นที่ขายปัจจุบัน ย้ำอีกครั้งว่า รุ่นที่ขายปัจจุบัน ใช้งานได้ตามปกติ ทั้งชิปเซ็ต ระบบปฏิบัติการ และแอป โดยจะมีผลเฉพาะรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้ผลิต
ถ้าใครมีมือถือ Huawei ที่ใช้ซีพียู Kirin อยู่ในมือ ก็ยังใช้งานได้ตามปกติ แต่รุ่นที่ออกใหม่จะไม่สามารถพัฒนาโดยใช้ซีพียู ชิปเซ็ตใหม่ของ Kirin ได้แล้ว รอติดตามกันต่อไป
อัพเดต 27 พฤษภาคม 2562 ทาง Huawei ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจของหัวเว่ยกับ ARM