ส่วนใหญ่เวลาเราจะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง สเปกหนึ่งที่เรามักจะดูกันก็คือขนาดจอว่ากี่นิ้ว และใช้ชนิดอะไร เช่น AMOLED, Super AMOLED หรือ LCD เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ก็คือมันเป็นจอ Oleophobic หรือไม่นั่นเอง
ถ้าเอาสรุปกันง่ายๆ จอ Oleophobic ก็คือจอที่เคลือบสารโพลีเมอร์กันรอยคราบนิ้วมือนั่นเอง (oleo แปลว่า น้ำมัน ส่วน phobic แปลว่า กลัว) โดยบริษัทแรกๆ ที่คิดค้นจอ Oleophobic ก็คือ แอปเปิลนั่นเอง ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัย iPhone 3GS เมื่อปี 2009 และใช้จวบจนถึงปัจจุบัน และมีบริษัทอื่นๆ เห็นข้อดีและทำตามๆ กันมา
ซึ่งโดยปกติมือถือรุ่นสูงๆ จะเคลือบเป็นชั้นบางๆ ไว้อยู่แล้ว ข้อดีของมันก็คือ เมื่อมีคราบจากนิ้วมือ หรือจากแก้มเวลายกโทร คราบพวกนี้จะติดจอยากขึ้นนั่นเอง และเพียงเอาผ้ามาปาด จอก็จะสะอาดเกือบเหมือนใหม่ แต่ถ้าเป็นจอที่ไม่ใช่ Oleophobic เวลาปาดเช็ด คราบมันก็จะแผ่ไปทั่วจอมากกว่าเดิม หรือเช็ดแทบไม่ออกนั่นเอง (จอ Oleophobic ที่ติดฟิล์มทับเพิ่มเติม คุณสมบัติของมันก็ถูกปิดเก็บไป แต่ก็เป็นการเปลี่ยนให้ฟิล์มช่วยกันรอยแทน)
แล้วมือถือรุ่นไหนใช้จอ Oleophobic กันบ้าง?
เอาจริงๆ ปัจจุบันมือถือรุ่นสูงๆ หรือแท็บเล็ตก็แทบใช้กันหมดแล้ว ยกตัวอย่างกระจกที่ใช้คือ Gorilla Glass ที่เรารู้จักกันนั่นเอง ซึ่งจะเคลือบสารกันคราบมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังนั้นในสเปกชีทจึงไม่ค่อยเห็นผู้ผลิตมือถือเอาข้อดีตรงนี้มาโฆษณากันมากนัก (ใครๆ ก็ใช้ Gorilla Glass มันจึงเป็นใครๆ ก็ใช้จอ Oleophobic)
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกเครื่องจะใช้จอ Oleophobic
คุณสมบัติ Oleophobic ช่างมีอายุสั้นนัก
ถ้าใครเป็นคนใช้มือถือยาวๆ คุณสมบัตินี้มีอายุได้เพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น (2 ปีนี่อย่างเก่งละ) เพราะสารเคลือบก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน เนื่องจากความเสื่อมของมันเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ เจ้าของเครื่องใช้งานหน้าจอหนักแค่ไหน เหงื่อและความมันของผิวผู้ใช้งานซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ (บางคนก็มาก บางคนก็น้อย) ก็ยิ่งทำให้เสื่อมไวขึ้น รวมไปถึงกระบวนการผลิตในโรงงานของแต่ละค่ายที่อาจจะเคลือบสารเพิ่มเติมไม่เท่ากันอีกด้วย
แล้วจะทำอย่างไรให้ Oleophobic อยู่ได้นานๆ?
ถึงแม้ว่าสารเคลือบจะมีอายุสั้น แต่ก็ยังมีวิธีที่จะทำให้มันอยู่ได้นานๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ หรือพวกน้ำยาทำความสะอาดบ้านต่างๆ เพราะพวกนี้มันแรงชนิดที่ว่าสารเคลือบจะหายไปเลยถ้าเอามาใช้เช็ด
- ใช้ผ้าแห้งในการเช็ด หรือผ้าแบบมีน้ำหมาดๆ นิดหน่อยก็พอในการขจัดคราบมันและรอยนิ้วมือ
- ติดฟิล์ม ซึ่งนอกจากจะกันรอยแล้ว ยังกันให้คุณสมบัติ Oleophobic อยู่ได้นานๆ เพราะไม่ได้ถูกใช้งานโดยตรง
จะรู้ได้ยังไงว่า คุณสมบัติ Oleophobic มันยังอยู่หรือเสื่อมหายไปแล้ว?
ลองใช้ปากกา marker ที่มีส่วนผสมน้ำมันขีดเส้นดูก็ได้ (แต่ไม่แนะนำนะ) ถ้าคุณสมบัติยังอยู่ เจ้าหมึกมันจะแตกเป็นหยดเล็กๆ ไม่เกาะปึ้ดเหมือนขีดบนวัสดุอื่นนั่นเอง
แต่อีกวิธีก็คือ หยดน้ำลงบนจอดู ถ้าคุณสมบัติ Oleophobic ยังอยู่ น้ำที่หยุดลงไปจะมีรูปร่างกลม (เหมือนหยดบนใบบัวน่ะแหละ) หรือดูรูปตัวอย่างข้างบนก็ได้ แต่ถ้าคุณสมบัติมันเสื่อมแล้ว น้ำจะแผ่แบนราบเลย อีกอย่างที่พอสังเกตได้คือ จอที่ยังมีคุณสมบัตินี้จะลื่นกว่าตัวที่เสื่อมแล้วเวลาไถ
แล้วถ้า Oleophobic มันเสื่อมไปแล้ว ทำยังไง?
อาจจะต้องหาวิธี DIY หรือร้านที่รับทำสารเคลือบ (ซึ่งบ้านเราหายาก) แต่ถึงมี คุณภาพก็คงไม่สู้เท่ากับเมื่อจอออกมาตั้งแต่ในโรงงาน ดังนั้นวิธีสุดท้ายถ้ามันเสื่อมแล้ว คือ ทำใจจ้า